“การบริหารจัดการ” ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เพราะหากไร้แล้วซึ่งการบริหารจัดการที่ดี ระบบการทำงานทุกอย่างก็จะสั่นคลอนอ่อนไหว และทำให้ธุรกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ต้องล้มเหลวล้มลงในที่สุด “การซื้อแฟรนไชส์” มาเปิดธุรกิจเองก็เช่นกัน
แม้ว่าจะมีระบบสำเร็จรูปมาให้ แต่เราก็จำเป็นต้องบริหารจัดการแฟรนไชส์ให้ดีด้วยตัวเราเองอยู่ดี และ 4 ข้อต่อจากนี้ไป คือสิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจของแฟรนไชส์ ที่เราต้องบริหารจัดการให้ได้ เพื่อให้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้อย่างมั่นคงยั่งยืนที่สุด
1. บริหารจัดการคลังสินค้า
คลังสินค้า คือหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ เพราะถ้าเราบริหารจัดการไม่ดี ก็จะทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเราสูงขึ้น กำไรน้อยลง และยิ่งเป็นแฟรนไชส์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร ที่มีของหมดอายุได้ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เรามีโอกาสเสียหายหนักมาขั้น เพราะต้องคำนวณให้ดี ให้ไม่มีของเสียของเหลือเยอะ และจำเป็นต้องรักษาความสดใหม่และคุณภาพของวัตถุดิบให้ดีที่สุดอยู่เสมอด้วย
ดังนั้น หากเราคิดจะเปิดแฟรนไชส์อะไรสักอย่างแล้วล่ะก็ การเตรียมตัวรับมือกับการบริหารจัดการคลังสินค้า บริหาร Stock คือสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ และห้ามละเลยหรือหละหลวมในการดูแลเด็ดขาด มิเช่นนั้น โอกาสประสบความสำเร็จคงริบหรี่กว่าแสงในตัวหิ่งห้อยเสียอีก
2. บริหารจัดการบุคลากร
ธุรกิจมิอาจขับเคลื่อนไปได้ ถ้าไร้ฟันเฟืองที่มีความหมายอย่างพนักงานในทุกๆ ตำแหน่ง รวมถึงตัวเราที่เป็นเจ้าของเงินทุนในการดำเนินการซื้อแฟรนไชส์มาเปิดด้วย เราจำเป็นต้องจัดหาพนักงานที่มีคุณภาพมาทำงานในร้านของเราให้ถูกที่ถูกทาง ใช้คนที่ถูกตำแหน่ง รู้จักสอนแนะนำและฝึกอบรมพนักงานให้มีความรู้และทัศนคติที่ดีในการทำงานอยู่เสมอ
ในขณะเดียวกันตัวเราเองก็ต้องฝึกตัวเองบริหารจัดการตัวเองให้อยู่ในกฎระเบียบ วินัย ข้อบังคับ และทำตามแผนงานของร้าน เช่นเดียวกันกับพนักงานด้วยเช่นกัน เพราะหากพนักงานในร้าน เจ้าของร้าน ไม่เต็มที่กับงาน ไม่ตั้งใจจริงจังกับการทำงานแล้ว แน่นอนว่าคงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะธุรกิจแฟรนไชส์ ขายของออนไลน์ หรือธุรกิจใดๆ ก็ตาม
3. บริหารจัดการลูกค้า
ธุรกิจใดที่ดูแลลูกค้าได้ไม่ดี ก็ไม่มีทางนำสิ่งดีๆ สู่ธุรกิจได้สำเร็จ เพราะลูกค้าคือหัวใจที่เป็นที่มาของรายได้ ที่จะทำให้ธุรกิจเราไปถึงจุดหมายที่หวังไว้ ดังนั้น การบริหารจัดการลูกค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ซึ่งเราจำเป็นจะต้องมีระบบในการดูแลลูกค้าทั้งก่อนและหลังการขายอย่างมืออาชีพ ไม่ว่าจะหน้าร้านออฟไลน์ หรือหน้าร้านออนไลน์ เราจำเป็นจะต้องทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจที่สุด และพึงพอใจให้ได้มากที่สุดที่มาใช้บริการกับเรา ซึ่งเมื่อลูกค้าพอใจและประทับใจแล้ว โอกาสในการเติบโตก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
4. บริหารจัดการบัญชีการเงิน
ขายดีแต่อาจไม่มีกำไรก็ได้ ถ้าไม่มีการบริหารจัดการการเงินที่ดีพอ ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ การบริหารจัดการเงินทุน การทำบัญชีการเงินนั้น จะต้องมีความแม่นยำและถูกต้องให้ได้มากที่สุด เพราะหากเราละเลยที่จะใส่ใจเรื่องการเงินแล้ว แทนที่เราจะสามารถลดต้นทุนเพิ่มกำไรได้ ก็กลายเป็นทำให้เรากำไรน้อยลงไปได้ง่ายๆ เพราะไม่มีการคำนวณค่าใช้จ่ายในด้านเงินทุนอย่างเหมาะสม และในบางครั้ง การไม่สนใจการบริหารจัดการการเงินนี้ ยังนำไปสู่วิกฤติการไม่มีเงินทุนหมุนเวียนมากพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ด้วย
ดังนั้น เรื่องเงินๆ ทองๆ อย่ามุ่งเพียงแค่ดูผลกำไร แต่ต้องใส่ใจภาพรวมทุกอย่างของการเงินในร้านให้ดี ให้ถูกต้อง เหมาะสมที่สุด แล้วธุรกิจเราจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่มีสะดุด จนถึงเส้นชัยที่ใจต้องการ
ในบางธุรกิจแฟรนไชส์ หน้าที่ในการบริหารจัดการหัวใจสำคัญ อันได้แก่ การเงิน คลังสินค้า บุคลากร และลูกค้านั้น ก็เป็นภาระหนักอึ้งของ “เจ้าของ” อย่างเดียว เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานทุกอย่าง แต่ในบางธุรกิจแฟรนไชส์ เราก็สามารถจ้างคนมาช่วยเราได้ ซึ่งไม่ว่าจะทำคนเดียวหรือจ้าง ก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ให้ดีอยู่เสมอ เพราะหาเผลอเพียงแค่นิดเดียว ธุรกิจก็อาจเกิดปัญหาและต้องมีอันล้มเหลวไปเลยก็เป็นได้