เชื่อเหลือเกินว่าไม่ว่าใครก็อยากทำธุรกิจ อยากลงทุนแฟรนไชส์อะไรสักอย่าง เพื่อให้ชีวิตหลุดออกมามีอิสระกับการเป็นเจ้าของกิจการที่ไม่ใช่ลูกจ้างตอกบัตรทำงานประจำด้วยกันทั้งนั้น แต่พอไปเจแฟรนไชส์อะไรดีๆ สักอย่างก็ดันต้องใช้เงินทุนเป็นหลักแสน ก็พาให้ถอดใจแล้วไปเสาะแสวงหาแฟรนไชส์ใหม่ที่ราคาเบากว่า แต่ทว่าเมื่อตัดสินใจลงทุนไปก็ดันเจอปัญหาเจ๊งไม่เป็นท่าไปอย่างรวดเร็วแบบไม่ทันตั้งตัวอีก เรื่องนี้คือความจริงที่เกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งบางทีคนส่วนใหญ่ก็มองข้ามไป เพราะคิดแต่เพียงว่า “ลงทุนไม่แพง เราลงทุนไหวแล้วจะเวิร์ค” แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย เพราะแฟรนไชส์ที่ลงทุนต่ำนั้น มีโอกาสไปไม่รอดสูงมากๆ ด้วยเหตุผล 3 ข้อหลักๆ ดังต่อไปนี้
1. เมื่อลงทุนต่ำ จึงทำให้ไม่มีค่าบริหารแฟรนไชส์ที่เพียงพอ
ธุรกิจแฟรนไชส์นั้น จะอยู่รอดได้ก็ด้วยตัวแบรนด์ของแฟรนไชส์ และการบริหารจัดการ การทำการตลาดของแฟรนไชส์แม่ ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่เก็บค่าลงทุนต่ำเกินไป ก็จะทำให้ “มีเงินสำหรับนำมาใช้บริหารแฟรนไชส์” ได้น้อยลง ลองคิดดูนะครับว่า ในครอบครัวหนึ่ง ถ้าพ่อแม่มีลูก 20 คน พ่อแม่ก็ต้องหาเงินให้ได้มากๆ เพื่อนำมาดูแลลูกทั้ง 20 ให้ดีได้เท่าเทียมกันทุกคน ดังนั้น ถ้ามีเงินไม่มากพอ ก็ดูแลได้ไม่ทั่วถึง และทำให้เกิดผลเสียในที่สุด แฟรนไชส์เองก็เช่นกันครับ ที่หากบริษัทแม่ไม่สามารถมีเงินมาบริหารจัดการดูแลได้อย่างเพียงพอล่ะก็ โอกาสที่แฟรนไชส์จะเติบโต ก็เป็นไปได้ยาก จึงเป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้แฟรนไชส์ลงทุนต่ำนั้น มีโอกาสเจ๊งล้มเหลวสูง
2. เมื่อลงทุนต่ำ ทำให้คนซื้อเยอะ สุดท้ายก็ดูแลไม่ทั่วถึง
เป็นผลพวงของการที่ค่าลงทุนแฟรนไชส์ถูก ที่จะทำให้ใครๆ ก็เอื้อมถึง และพอเมื่อมีคนสมัครเยอะขึ้น ก็กลายเป็นว่า บริษัทแม่ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงไปโดยปริยาย เพราะยิ่งจำนวนสาขาแฟรนไชส์เยอะมากเท่าไร ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ในการทำการตลาดประชาสัมพันธ์ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดูแลแฟรนไชส์ทั้งหมดก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามจำนวน ดังนั้น เมื่อทุกอย่างที่จำเป็นมีไม่พอ ต่อการดูแลสนับสนุนแฟรนไชส์แล้วล่ะก็ สุดท้ายก็จะทำให้เกิดการดูแลไม่ทั่วถึง และค่อยๆ ล้มหายตายจากไปในที่สุด ซึ่งทุกคนก็น่าจะรู้กันดีว่า พอมีสาขาหนึ่งล้มไป สาขาที่ล้มนั้นก็จะมีข้อร้องเรียน จนทำให้เป็นเรื่องเป็นราวเกิดขึ้นและล้มลงไปเป็น Domino Effect
3. แฟรนไชส์ถูกเกินไป เลยทำให้กลายเป็นคู่แข่งกันเอง
ข้อนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเจตนาในการเร่งขยายสาขาของบริษัทแม่จนเกินไปด้วย ที่ไม่ได้คัดกรองให้ดีว่า ควรจะจำกัดจำนวนแฟรนไชส์แต่ละพื้นที่ไว้อย่างไรบ้าง แต่เพราะเร่งแต่จะขยายสาขา ซึ่งเมื่อแฟรนไชส์ราคาไม่แพง ก็เลยทำให้ใครเห็นก็อยากรีบคว้าโอกาสเอาไว้ จนกลายเป็นมีสาขาเปิดทับซ้อนกันในพื้นที่ใกล้ๆ กันเยอะเกินไป ก่อให้เกิดการตัดแข้งตัดขากันเอง แย่งส่วนแบ่งการตลาดกันเอง และมีการล้มหายตายจากไปในที่สุด
แท้จริงแล้ว การลงทุนทำธุรกิจอะไรสักอย่างหนึ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และมีหลายองค์ประกอบสำคัญที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดความสำเร็จ ซึ่ง “ราคาแฟรนไชส์” เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะบางที ราคาลงทุนแฟรนไชส์ที่ถูกเกินไป ก็ทำให้ผู้ลงทุน “ไม่กระตือรือร้นมากพอ” เพราะอาจจะรู้สึกลึกๆ ว่า เจ๊งก็ได้ ไม่เสียดายเท่าไร ทำให้แทนที่จะทุ่มเททำธุรกิจ ก็กลายเป็นไม่เต็มที่ และพาให้ล้มเหลวในที่สุด กลับกันเลยในกรณีของการลงทุนแฟรนไชส์ที่มีราคาแพงนั้น ผู้ลงทุนจะผ่านกระบวนการคิดและตัดสินใจมาเป็นอย่างดีแล้วว่า “จะทำจริง” จึงทำให้แม้ต้องผชิญกับอุปสรรค ก็จะสามารถมีโอกาสผ่านพ้นไปได้มากกว่า
เพราะ “ลงทุนไปมาก” ยังไงก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ดังนั้นเอง ในกระบวนการตัดสินใจเลือกลงทุนแฟรนไชส์นั้น บางทีการตัดสินเพียงว่าแฟรนไชส์นี้ถูก แล้วจะถือว่าดี จึงไม่ใช้หลักการคิดที่ถูกต้องสักเท่าไร แต่เราควรศึกษารายละเอียดให้ดี ดูผลงานและการทำงานของแฟรนไชส์นั้นให้ดีประกอบกันด้วย เพื่อให้การเลือกของเรา เป็นการตัดสินใจที่ถูกที่สุด เพราะไม่ว่ามันจะต้องลงทุนเป็นเงินจำนวนเท่าไร เราก็ควรทำให้มันประสบความสำเร็จและก้าวไปให้ได้ไกลที่สุด…เท่าที่จะทำได้